วัดอรุณ

Arunratchawararam Ratchaworamahawihan Temple orTemple of Dawn, Bangkok

วัดอรุณ เป็นวัดที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพระปรางค์อันสวยโดดเด่น

แลนด์มาร์คหรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างหนึ่งของกรุงเทพ ก็ต้องมีการเที่ยวชมวัดต่างๆ เพราะในภาคกลางนี้ถือว่าเมืองกรุงจัดเป็นอีกเมืองที่มีวัดสวยอยู่หลากหลายสถานที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความงดงามของสถาปัตยกรรมของประเทศไทย พร้อมด้วยประติมากรรมและจิตกรรมที่รวมกันอยู่แต่ละสถานที่ และหากนึกถึงวัดสวย ก็ต้องมีวัดนี้อยู่ในลิสต์รายการแน่นอนเลย นั่นก็คือ วัดอรุณ เป็นวัดที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพระปรางค์อันสวยโดดเด่น มาดูกันดีกว่าว่า วัดอรุณ มีอะไรน่าสนใจบ้าง

วัดอรุณ

ประวัติของวัดอรุณ

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ที่แต่เดิมวัดนี้มีชื่อว่า วัดมะกอก เป็นชื่อที่มาจากตำบลของที่ตั้งวัดในอดีต โดยวัดนี้ถือว่ามีความเก่าแก่มาอย่างยาวนาน สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้ง เพราะในครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงได้กอบกู้อิสรภาพของไทยกลับมาได้ และย้ายราชธานีมายุงกรุงธนบุรี ซึ่งพระองค์ได้เสด็จทางชลมารค มาถึง ณ วัดมะกอก เมื่อยามรุ่งแจ้งพอดี จึงถืออาฤกษ์มงคลนี้มาเป็นชื่อวัด

ซึ่งวัดแจ้งก็ได้รับการบูรณะเรื่อยมา และในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม ซึ่งได้เป็นวัดประจำของรัชกาล 2 และหลังจากนั้นก็ได้รับการบูรณพระปรางค์ครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแบบที่เราได้ชมกันในปัจจุบัน

ความงดงามของพระปรางค์ วัดอรุณ

วัดอรุณ

เป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดของประเทศไทย มีความสูงถึง 81.85 เมตร โดยองค์พระปรางค์ก่ออิฐถือปูน และตกแต่งด้วยเปลือกหอย ชามเบญจรงค์ กระเบื้องเคลือบที่มีลวดลายต่างๆ เช่น ลายดอกไม้ ใบไม้  ซึ่งพระปรางค์นี้ก็เปรียบเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ บริเวณหน้าซุ้มจระนำ หรือซุ้มคูหา ทั้ง 4 ทิศ ได้มีการประดิษฐานพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

หรือพระอินทร์ทรงช้างสามเศียร เป็นประติมากรรมที่กล่าวถึงที่ประทับของพระอินทร์ ณ ชั้นดาวดึงส์ และยอดพระปรางค์ก็จะประดับด้วยนภศูล  นอกจากนี้ยังมีบริเวณของพระปรางค์ขนาดย่อมทั้ง 4 ทิศ เปรียบเป็นตัวแทนทั้ง สี่ทวีป ถัดมาคือมณฑปทิศทั้ง 4 ด้าน ซึ่งภายในจะมีรูปปั้นเกี่ยวกับพุทธประวัติ และสุดท้ายก็คือลานรอบพระปรางค์ จัดเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามอย่างมาก

อีกหนึ่งความประทับใจ ภาพยามเย็นเมื่อมองจากฝั่งพระนคร จะได้เห็นพระอาทิตย์ค่อยๆ ลับขอบฟ้าตรงด้านหลังวัดในทิศตะวันตก เกิดเป็นแสงสีทองที่ชูความงดงามของวัดอรุณให้มากกว่าเดิมอีกด้วย